Site icon กฏหมาย ศาล อัยการ ทนาย คุก

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497

พระราชบัญญัติ

องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497

————–

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497

เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

          โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

          มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497

          มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

          เมื่อจะใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดอื่นใด  ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา         

          มาตรา 3  ตั้งแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดใด ให้ยกเลิกบรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้ง หรือขัดกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดนั้น

          มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

          องค์การโทรศัพท์ หมายความว่า  องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้

          พนักงาน หมายความว่า  พนักงานขององค์การโทรศัพท์

          ผู้อำนวยการ หมายความว่า  ผู้อำนวยการขององค์การโทรศัพท์

          คณะกรรมการ หมายความว่า  คณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์

          รัฐมนตรี หมายความว่า  รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด 1

การจัดตั้ง ทุน และเงินสำรอง

——

 

          มาตรา 6  ให้จัดตั้งองค์การขึ้นองค์การหนึ่ง เรียกว่า องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์และธุรกิจอื่นที่ต่อเนื่อง ใกล้เคียงกับ หรือซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์

          มาตรา 7  ให้องค์การโทรศัพท์เป็นนิติบุคคล

          มาตรา 8(1) ให้องค์การโทรศัพท์ตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใกล้เคียงและจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรก็ได้ แต่การตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนภายนอกราชอาณา-จักรต้องได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน

          มาตรา 9(2) เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา 6  ให้องค์การโทรศัพท์มีอำนาจรวมถึง

          (1) ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ มีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จัดหา จำหน่าย ทำการแลกเปลี่ยน โอนและรับโอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งที่ดิน ทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องใช้บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการโทรศัพท์

          (2) ให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเรื่องเครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ เครื่องใช้ และเครื่องบริการต่าง ๆ

          (3) กำหนดอัตราค่าเช่า ค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และค่าบริการอื่น ๆ ของกิจการโทรศัพท์  และจัดระเบียบเกี่ยวกับวิธีชำระค่าต่าง ๆ ดังกล่าว

          (4) จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการโทรศัพท์

          (5) กู้ ยืม เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ออกพันธบัตร หรือตราสารอื่นใดเพื่อการลงทุน ให้กู้ ให้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือด้วยทรัพย์

          (6) ร่วมการงาน หรือสมทบกับบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์แห่งกิจการขององค์การโทรศัพท์ รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลใด ๆ

          (7)(3) จัดทำ จัดพิมพ์ โฆษณา จำหน่าย หรือเผยแพร่รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์                    

          มาตรา 10(4) ทุนขององค์การโทรศัพท์ประกอบด้วย

          (1) ทุนประเดิมตามมาตรา 12

          (2) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่รับโอนตามมาตรา 13 และมาตรา 14

          (3) เงินที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินที่จ่ายให้ภายหลังเพื่อดำเนินงานหรือขยายกิจการ

          (4) เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่รับโอนจากทางราชการ องค์การของรัฐบาลหรือที่ได้รับจากรัฐบาล จากต่างประเทศ หรือจากองค์การระหว่างประเทศ

          เงินหรือทรัพย์สินอื่นตาม (4) ถ้ามีหนี้สินอยู่ให้หักออกแล้ว จึงให้โอนเข้าเป็นทุนได้

                    มาตรา 11  ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ ความรับผิด และธุรกิจของกองโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้แก่องค์การโทรศัพท์ดำเนินกิจการต่อไป

          มาตรา 12  ให้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายสามัญและรายจ่ายวิสามัญลงทุน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2497 ของกองโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข และงบประมาณอื่นใด ตามสิทธิที่กองโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับจากรัฐบาลอยู่แล้ว เป็นทุนประเดิมให้แก่องค์การโทรศัพท์

          นอกจากเงินที่รัฐจ่ายแล้ว ให้นำสินทรัพย์ที่รับโอนมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อได้หักหนี้สินออกแล้ว เข้าอยู่ในทุนประเดิมด้วย

          มาตรา 13  เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในจังหวัดใด ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ ความรับผิด และธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตจังหวัดนั้นจากกองโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้แก่องค์การโทรศัพท์ดำเนินกิจการต่อไป

          ในกรณีดังกล่าวในวรรคก่อน ให้จ่ายเงินตามงบประมาณประจำปีงบประมาณในปีที่ประกาศพระราชกฤษฎีกานั้น ของกองโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข บรรดาที่เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตจังหวัดนั้น ให้แก่องค์การโทรศัพท์

          มาตรา 14  บรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ ความรับผิด และธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ทางไกล จากเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีซึ่งติดต่อกับเขตจังหวัดหนึ่งจังหวัดใด จะโอนจากกองโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้แก่องค์การโทรศัพท์เมื่อใด ให้ประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ในกรณีเช่นนี้ ให้นำความในมาตรา 13 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 15  ทรัพย์สินขององค์การโทรศัพท์ซึ่งใช้เพื่อดำเนินกิจการและเพื่อประสิทธิภาพแห่งการโทรศัพท์และการคมนาคมสาธารณ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

          มาตรา 16  ให้องค์การโทรศัพท์ได้รับสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ บรรดาที่กฎหมายให้ไว้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข ในส่วนที่ว่าด้วยการโทรศัพท์

          (1)ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การตั้ง ทำหรือบำรุงการโทรศัพท์ของกระทรวงกลาโหมที่ใช้ในราชการทหาร

โดยเฉพาะ          

          มาตรา 17  ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงาน เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา

          มาตรา 18  พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์  พุทธศักราช  2477  และบรรดากฎ   ข้อบังคับ   ที่ได้ออกตาม

พระราชบัญญัตินั้น ในส่วนที่ว่าด้วยการโทรศัพท์ ให้คงใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้เพียงเท่าที่มิได้มีความบัญญัติไว้แล้วใน

พระราชบัญญัตินี้และที่มิได้มีความแย้ง หรือขัดกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

          เพื่อประโยชน์แห่งการนำพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อนมาใช้บังคับต่อไป ให้อ่านคำบางคำในพระราชบัญญัติ และกฎ  ข้อบังคับนั้น ดังต่อไปนี้

          คำว่า กรม และ กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้อ่านว่า องค์การโทรศัพท์

          คำว่า อธิบดี ให้อ่านว่า ผู้อำนวยการ

          คำว่า พนักงานโทรศัพท์ และ เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ ให้อ่านว่าพนักงาน

          มาตรา 19  ให้องค์การโทรศัพท์ได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

          มาตรา 20  เงินสำรองขององค์การโทรศัพท์ ให้ประกอบด้วยเงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ เพื่อความประสงค์แต่ละอย่างโดยเฉพาะ ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

          มาตรา 21  เงินสำรองธรรมดาจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการ ด้วยความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

          มาตรา 22  ให้องค์การโทรศัพท์เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารตามระเบียบของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

          มาตรา 22 ทวิ(1) ให้องค์การโทรศัพท์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการจัดทำจัดพิมพ์โฆษณา จำหน่าย หรือเผยแพร่รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์

          ผู้ใดกระทำการตามวรรคหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากองค์การโทรศัพท์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งจัดทำหรือจัดพิมพ์รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์เพื่อใช้ในราชการ และเอกชน ซึ่งจัดทำหรือจัดพิมพ์รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์เพื่อใช้ในกิจการของตน

 

 

หมวด 2

การกำกับ ควบคุม และจัดการ

——–

 

          มาตรา 23  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์ และเพื่อประโยชน์ในการนี้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการหรือพนักงาน มาชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือให้ทำรายงานยื่น

          มาตรา 24  เรื่องที่จะต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้นำเสนอรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี

          มาตรา 25  ให้มีคณะกรรมการขององค์การโทรศัพท์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสี่คน แต่ไม่เกินหกคน เป็นผู้ควบคุมและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์

          ประธานกรรมการ และกรรมการ ต้องมีสัญชาติไทยและอย่างน้อยจะต้องมีผู้มีความรู้และความจัดเจนเกี่ยวกับการโทรศัพท์หนึ่งคน เกี่ยวกับการโทรคมนาคมหนึ่งคน และเกี่ยวกับการเศรษฐกิจหรือการเงินอีกหนึ่งคน

          มาตรา 26  ผู้มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้อำนวยการ คือ

          (1) มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การโทรศัพท์ หรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การโทรศัพท์ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

          (2) เป็นพนักงาน

          มาตรา 27  ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอนประธานกรรมการ และกรรมการขององค์การโทรศัพท์

           มาตรา 28  ให้ประธานกรรมการ และกรรมการที่ได้รับแต่งตั้ง ดำรงตำแหน่งคราวละห้าปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งซ่อม หรือเพิ่มเติมประธานกรรมการ หรือกรรมการ ประธานกรรมการหรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งซ่อมหรือเพิ่มเติมขึ้นนั้นให้ดำรงตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดเวลาของกรรมการชุดนั้น

          เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคก่อน หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้ประธานกรรมการ และกรรมการ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น รักษาการในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

          ประธานกรรมการ และกรรมการ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้

          มาตรา 29  ประธานกรรมการ และกรรมการ ย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตามความในมาตรา 28 เมื่อ

          (1) ตาย

          (2) ลาออก

          (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

          (4) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเป็นผู้ไร้ความสามารถ

          (5) ขาดการประชุมคณะกรรมการกว่าสามครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร

          (6) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 25 หรือต้องห้ามตามมาตรา 26

          มาตรา 30  ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดเงินผลประโยชน์ตอบแทนของประธานกรรมการ และกรรมการ

          ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานอาจได้รับเงินรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          มาตรา 31  ภายใต้บังคับมาตรา 39 และมาตรา 40 ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่วางนโยบาย และควบคุม

ดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การโทรศัพท์ โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี อำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

          (1) ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 6 และมาตรา 9

          (2) วางระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานต่าง ๆ

          (3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ  การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน การถอดถอน และระเบียบวินัยของพนักงาน ตลอดจนกำหนดจำนวนอัตราตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และเงินอื่น ๆ ของพนักงาน

          (4) ตั้งอัตราค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์ ค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และค่าบริการอื่น ๆ

          (5) กำหนดอัตราเงินสะสมของผู้อำนวยการ และพนักงาน และวางระเบียบการจ่ายคืนเงินสะสม

          ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางขึ้นนั้น ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศข้อบังคับที่มีข้อความเช่นว่านั้นในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา 32  ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งผู้อำนวยการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และให้อยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่มีกำหนดเวลาแต่ในกรณีที่บกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนสมรรถภาพ หรือมีเหตุผลอันสมควรอื่น

คณะกรรมการจะให้ออกจากตำแหน่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก็ได้

          ผู้อำนวยการจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความจัดเจนเกี่ยวกับการโทรศัพท์และการโทรคมนาคม และให้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

          ให้ผู้อำนวยการได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด

           มาตรา 33  ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจ

          (1) แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้นเงินเดือน ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงาน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

          (2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์การโทรศัพท์ โดยไม่แย้งหรือขัดต่อระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

          มาตรา 34(1) เครื่องแบบและเครื่องหมายผู้อำนวยการและพนักงานมีลักษณะ ชนิด และประเภทเป็นอย่างใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา 35(2) ผู้ใดแต่งเครื่องแบบ หรือประดับเครื่องหมายผู้อำนวยการหรือพนักงานโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ หรือแต่งเลียนเครื่องแบบเครื่องหมายผู้อำนวยการหรือพนักงาน เพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็น

ผู้อำนวยการหรือพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา 36  ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และให้มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่ง

          ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการในการบริหารกิจการขององค์การโทรศัพท์

          มาตรา 37  ในกรณีจำเป็นและรีบด่วน ซึ่งคณะกรรมการดำเนินกิจการตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ไม่ได้ทันท่วงที ให้ผู้อำนวยการดำเนินกิจการไปได้ก่อน แต่ต้องรีบรายงานต่อคณะกรรมการโดยไม่ชักช้า

          มาตรา 38  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การโทรศัพท์ และเป็นตัวแทนขององค์การโทรศัพท์ และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการอาจมอบอำนาจให้ตัวแทนขององค์การโทรศัพท์ที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 8 หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

          ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 31 วรรคท้าย กำหนดไว้ว่า นิติกรรมใดผู้อำนวยการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้อำนวยการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันองค์การโทรศัพท์ เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

 

หมวด 3

ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

——–

 

          มาตรา 39  ในการดำเนินกิจการขององค์การโทรศัพท์ ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและของประชาชน

          มาตรา 40  องค์การโทรศัพท์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน จึงจะดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ได้ คือ

          (1) เลิกชุมสายโทรศัพท์ หรือโทรศัพท์ทางไกล

          (2) เพิ่ม หรือลดทุน

          (3) กู้ยืมเงินครั้งหนึ่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าสามล้านบาท

          (4) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์

          (5) ตั้งอัตราค่าเช่าเครื่องโทรศัพท์ และค่าบริการอื่น ๆ

          มาตรา 41  ให้องค์การโทรศัพท์จัดทำงบประมาณประจำปีโดยให้แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

          มาตรา 42  รายได้ที่องค์การโทรศัพท์ได้รับจากการดำเนินกิจการให้ตกเป็นขององค์การโทรศัพท์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

          รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา

ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในองค์การโทรศัพท์และครอบครัว เงินผลประโยชน์ตอบแทน และเงินรางวัลตามมาตรา 30 เงินสำรองธรรมดาซึ่งตั้งไว้เผื่อขาด เงินสำรองเพื่อขยายกิจการ เงินสำรองไถ่ถอนหนี้ และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามความในมาตรา 41 แล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

          แต่ถ้ารายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับรายจ่ายดังกล่าว นอกจากเงินสำรองที่ระบุไว้ในวรรคสอง และองค์การโทรศัพท์ไม่สามารถหาเงินจากทางอื่น รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่องค์การโทรศัพท์เท่าจำนวนที่จำเป็น

          มาตรา 43  ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรีรายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานขององค์การโทรศัพท์ในปีที่ล่วงแล้ว พร้อมด้วยคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการ และแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

 

หมวด 4

การอุทธรณ์ และการสงเคราะห์

——

 

          มาตรา 44  ให้พนักงานมีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับคำสั่งลงโทษได้ ตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

          มาตรา 45  ให้องค์การโทรศัพท์จัดให้มีกองทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในองค์การโทรศัพท์และครอบครัว ในกรณีพ้นจากตำแหน่ง ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือกรณีอื่นอันควรแก่การสงเคราะห์

          การจัดให้ได้มาซึ่งกองทุนดังกล่าวในวรรคก่อน การกำหนดประเภทของผู้ที่พึงได้รับการสงเคราะห์จากกองทุน และหลักเกณฑ์การสงเคราะห์ตลอดจนการจัดการเกี่ยวกับกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด

          ระเบียบข้อบังคับดังกล่าวในวรรคก่อนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

หมวด 5

การบัญชี การสอบ และการตรวจ

——

 

          มาตรา 46  ให้องค์การโทรศัพท์วางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำและมีสมุดบัญชีลงรายการ

          (1) การรับและจ่ายเงิน

          (2) สินทรัพย์และหนี้สิน

          ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริง และตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ

          มาตรา 47  ทุกปี ให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบและตรวจบัญชี รวมทั้งการเงินขององค์การโทรศัพท์

          มาตรา 48  ผู้สอบและตรวจบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ขององค์การโทรศัพท์ เพื่อการนี้ ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงาน ในองค์การโทรศัพท์

          มาตรา 49  ผู้สอบบัญชีต้องทำรายงานผลของการสอบบัญชี เสนอคณะรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี และให้องค์การโทรศัพท์โฆษณารายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้น แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน ซึ่งผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชี

 

 

 

หมวด 6

บทเฉพาะกาล

——

 

          มาตรา 50  ในระหว่างที่การโอนกิจการ บรรดาทรัพย์สิน สินทรัพย์ความรับผิด ธุรกิจและเงิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 ยังไม่เสร็จสิ้น ให้กองโทรศัพท์ หรือกองโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข แล้วแต่กรณี ดำเนินกิจการโทรศัพท์ดังเช่นเดิมไปพลางก่อน

          มาตรา 51  เงินรายได้อันเกิดจากกิจการโทรศัพท์เฉพาะส่วนที่ได้โอนไปให้องค์การโทรศัพท์จัดดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้ตั้งรับไว้ในงบประมาณรายรับประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2497 ให้องค์การโทรศัพท์นำส่งเป็นรายได้ของรัฐทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ถ้าองค์การโทรศัพท์มีรายได้เกินสิบหกล้านบาท ให้ส่วนที่เกินสิบหกล้านบาทนั้นตกเป็นขององค์การโทรศัพท์

 

   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

       จอมพล ป. พิบูลสงคราม

              นายกรัฐมนตรี

 

 

——————–

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารของประชาชน สมควรจะได้ปรับปรุงบริการโทรศัพท์ทุกประเภทให้มีข่ายกว้างขวางและทันสมัยยิ่งขึ้นทุกจังหวัด โดยจัดตั้งเป็นองค์การ

          จึงเห็นสมควรจัดแยกกิจการโทรศัพท์ในเขตจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีซึ่งกองโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ดำเนินการอยู่และกิจการโทรศัพท์ในเขตจังหวัดอื่นกับกิจการโทรศัพท์ทางไกลซึ่งกองโทรเลข กรมไปรษณีย์โทรเลข ดำเนินการอยู่นั้น มารวมกันจัดตั้งขึ้นเป็นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจการโทรศัพท์ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนสืบไป

 

———————

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีความ

จำเป็นต้องขยายงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตของประชาชนให้เพียงพอซึ่งในการนี้อาจได้รับงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล จากต่างประเทศหรือจากองค์การระหว่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามความจำเป็นดังกล่าว   อนึ่ง โดยที่ขณะนี้กฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมิได้กำหนดเครื่องแบบและเครื่องหมายของผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ จึงต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

          *[รก.2511/111/869/26 พฤศจิกายน 2511]

———————

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2517

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ทางราชการทหารมีความจำเป็นจะต้องจัดให้มีและใช้โทรศัพท์ในราชการทหารโดยเฉพาะขึ้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันราชอาณาจักร แต่พระราชบัญญัติโทรเลขและโทรศัพท์ พุทธศักราช 2477 และพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 กำหนดให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดดำเนินการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ทั้งสิ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติม

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย  พ.ศ. 2497 เพื่อให้กระทรวงกลาโหมมีอำนาจจัดทำและใช้โทรศัพท์

ดังกล่าวได้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

          *[รก.2517/155/40พ./18 กันยายน 2517]

 

———————

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2527

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497  กำหนดให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมีสำนักงานแห่งใหญ่ในจังหวัด

พระนคร (ปัจจุบัน คือ กรุงเทพมหานคร) แต่ปรากฏว่าสำนักงานแห่งใหญ่ในปัจจุบันคับแคบและไม่สามารถขยายออกไปให้สะดวกแก่การปฏิบัติงานได้สมควรแก้ไขมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 เพื่อให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยสามารถตั้งสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดใกล้เคียงได้  จึง

จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

          *[รก.2527/140/11พ./8 ตุลาคม 2527]

 

———————

พระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดทำ จัดพิมพ์ โฆษณา จำหน่าย และเผยแพร่รายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์เป็นสิ่งจำเป็นในการให้บริการและการใช้บริการโทรศัพท์ในปัจจุบันและรายชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เช่าโทรศัพท์ดังกล่าวย่อมต้องมีการจัดทำ จัดพิมพ์ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมอยู่เสมอ สมควรกำหนดให้กิจการดังกล่าวเป็นอำนาจและเป็นสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแต่ผู้เดียว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

          *[รก.2530/254/48พ./7 ธันวาคม 2530]

Exit mobile version