Site icon กฏหมาย ศาล อัยการ ทนาย คุก

ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2521

พระราชบัญญัติ

ระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521

–––––––––––

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2521

เป็นปีที่ 33 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

          โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจ

          จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

          มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521

          มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2521 เป็นต้นไป

          มาตรา 3  ในพระราชบัญญัตินี้

          ข้าราชการตำรวจ หมายความว่า  ข้าราชการซึ่งรับราชการในกรมตำรวจโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณหมวดเงินเดือน  และหมายความรวมถึงข้าราชการตำรวจ  ซึ่งกรมตำรวจแต่งตั้งหรือสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการตำรวจโดยได้รับเงินเดือนจากผู้ว่าจ้างด้วย

          รองอธิบดี หมายความว่า รองอธิบดีกรมตำรวจ

          อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมตำรวจ

          ก.ตร. หมายความว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

          รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 4  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

          กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

 

 

หมวด 1

บททั่วไป

——

         มาตรา 5  ชั้นข้าราชการตำรวจมีดังนี้

          (1) ชั้นพลตำรวจ  ได้แก่พลตำรวจกองประจำการ  พลตำรวจสำรอง พลตำรวจสำรองพิเศษ พลตำรวจพิเศษ และพลตำรวจสมัคร

              พลตำรวจกองประจำการ คือ ผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการโดยถูกเรียกเข้ากองประจำการเป็นตำรวจ ตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการ ทหาร  ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างรับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของกรมตำรวจหรือไม่ก็ตาม

              พลตำรวจสำรอง คือ ผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ โดยได้รับการคัดเลือกเข้ารับการศึกษาอบรมในสถานศึกษาของกรมตำรวจ

              พลตำรวจสำรองพิเศษ คือ ผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ

              พลตำรวจพิเศษ คือ พลตำรวจสำรองพิเศษหรือพลตำรวจสมัครที่ถูกเรียกเข้ากองประจำการเป็นตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

              พลตำรวจสมัคร คือ พลตำรวจสำรองพิเศษซึ่งได้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการมาครบกำหนดแล้ว หรือพลตำรวจพิเศษที่ปลดเป็นกองหนุนแล้ว  ทั้งนี้ โดยผู้บังคับบัญชามิได้สั่งให้ออกจากราชการ

          (2) ชั้นประทวน ได้แก่ผู้มียศสิบตำรวจตรี สิบตำรวจโท สิบตำรวจเอก จ่าสิบตำรวจ และนายดาบตำรวจ

          (3) ชั้นสัญญาบัตร ได้แก่ผู้มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

              ว่าที่ยศใดให้ถือเสมือนมียศนั้น

          มาตรา 6(1) อัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่งและการรับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง

          นอกจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้ว ให้พลตำรวจกองประจำการมีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม เงินเพิ่มพิเศษ เงินสวัสดิการ หรือเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่พลทหารกองประจำการมีสิทธิได้รับ แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม เงินเพิ่มพิเศษเงินสวัสดิการ หรือเงินช่วยเหลือตามที่ข้าราชการตำรวจอื่นได้รับ

          มาตรา 6 ทวิ(2) ให้ข้าราชการตำรวจได้รับเงินเดือน ดังต่อไปนี้

          (1) พลตำรวจกองประจำการ และพลตำรวจสำรอง ให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.1

          (2) พลตำรวจสำรองพิเศษ พลตำรวจพิเศษ และพลตำรวจสมัครให้ได้รับเงินเดือนระดับ พ.2

          (3) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศสิบตำรวจตรี สิบตำรวจโท  สิบตำรวจเอก และจ่าสิบตำรวจ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.1

          (4) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศจ่าสิบตำรวจอัตราเงินเดือนจ่าสิบตำรวจ(พิเศษ) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.2

          (5) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนยศนายดาบตำรวจ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ป.3

          (6) ข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรี ร้อยตำรวจโท และร้อยตำรวจเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.1

          (7) ข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.2

          (8) ข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.3

          (9) ข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.4

         (10) ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจจัตวา หรือพันตำรวจเอกอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก(พิเศษ) ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.5

         (11) ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรี ให้ได้รับเงินเดือนระดับ  ส.6

         (12) ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจโท ให้ได้รับเงินเดือนระดับ  ส.7

         (13) ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.8

         (14) ข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ให้ได้รับเงินเดือนระดับ ส.9

         มาตรา 7  ข้าราชการตำรวจอาจได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

          (1)วรรคสอง

          มาตรา 8  ข้าราชการตำรวจอาจได้รับเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนเงินเพิ่มอื่น หรือเงินช่วยเหลือตามที่กำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลัง หรือโดยกระทรวงมหาดไทย ตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง

          มาตรา 9  ข้าราชการตำรวจอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศหรือตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามที่ ก.ตร. และกระทรวงการคลังจะได้กำหนด

          มาตรา 10  ให้ถือว่าข้าราชการตำรวจเป็นข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และให้ ก.ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ

          มาตรา 11  เครื่องแบบของข้าราชการตำรวจและระเบียบการแต่งให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น

          มาตรา 12  วันเวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดประจำปีและการลาหยุดราชการของข้าราชการตำรวจ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด 2

คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

——

           มาตรา 13  ให้มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า ก.ตร. ประกอบด้วย

          (1) รัฐมนตรีเป็นประธาน อธิบดีเป็นรองประธาน เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รองอธิบดี และผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง และ

          (2) กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิแปดคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจาก

              (ก) ข้าราชการตำรวจซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการหรือเทียบผู้บัญชาการขึ้นไป และมิได้เป็นกรรมการ

ข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่งอยู่แล้ว สี่คน โดยในจำนวนนี้ให้มีผู้บัญชาการตำรวจภูธรรวมอยู่ด้วยอย่างน้อยหนึ่งคน

              (ข) ผู้ซึ่งได้รับบำเหน็จบำนาญและเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการหรือเทียบ

ผู้บังคับการขึ้นไปมาแล้ว สี่คน

          ให้ ก.ตร. แต่งตั้งข้าราชการตำรวจคนหนึ่งเป็นเลขานุการ ก.ตร.

          มาตรา 14  กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้

          ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนถึงกำหนดวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิแทน เว้นแต่วาระการอยู่ในตำแหน่งของกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน รัฐมนตรีจะไม่แต่งตั้ง

ก็ได้

          กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของผู้ซึ่งตนแทน

          มาตรา 15  ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการข้าราชการตำรวจว่างลงและมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยรีบด่วน ก็ให้กรรมการข้าราชการตำรวจที่เหลือดำเนินการไปได้ แต่ต้องมีกรรมการข้าราชการตำรวจพอที่จะเป็นองค์ประชุม

          มาตรา 16  กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

          (1) ครบกำหนดวาระ

          (2) ตาย

          (3) ลาออก

          (4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

          (5) เป็นบุคคลล้มละลาย

          (6) เป็นผู้ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

          (7) เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่ง หรือพ้นจากการเป็นข้าราชการตำรวจ  ในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจตามมาตรา 13 (2) (ก)

          (8) กลับเข้ารับราชการเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำในกรณีที่เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจตามมาตรา 13 (2) (ข)

          (9) เป็นข้าราชการการเมือง

         (10) เป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

         (11) เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง

          ในกรณีเป็นที่สงสัยว่ากรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิผู้ใดพ้นจากตำแหน่งกรรมการข้าราชการตำรวจหรือไม่ ให้ ก.ตร. วินิจฉัยชี้ขาด

          มาตรา 17  การประชุมของ ก.ตร. ต้องมีกรรมการข้าราชการตำรวจมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงเป็นองค์ประชุม

          ถ้าประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการข้าราชการตำรวจในที่ประชุมเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่งที่มาประชุมเป็นประธานในที่ประชุม

         ในการประชุมของ ก.ตร. ถ้ามีการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ใดโดยเฉพาะ ผู้นั้นไม่มีสิทธิเข้าประชุม

          การวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

          ก.ตร. มีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการลงมติของก.ตร. และของคณะอนุกรรมการ

          มาตรา 18  ในกรณีที่ ก.ตร. มีหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้อธิบดีเป็นผู้เสนอเรื่องต่อ ก.ตร. แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิกรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่งคนใดที่จะเสนอ

          มาตรา 19  ก.ตร. มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการให้ทำการใด ๆ  แทนได้ และให้นำมาตรา 17 มาใช้บังคับแก่การประชุมของอนุกรรมการโดย อนุโลม

          มาตรา 20  ตำแหน่งข้าราชการตำรวจจะมีตำแหน่งใด อยู่ในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด และต้องใช้ผู้มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งอย่างใด ยศชั้นใด ให้เป็นไปตามที่ ก.ตร. กำหนด โดยให้คำนึงถึงลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน

          การกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งรองผู้กำกับการหรือเทียบรองผู้กำกับการขึ้นไป ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนเว้นแต่เป็นการตัดโอนตำแหน่งจากส่วนราชการหนึ่งไปเพิ่มในอีกส่วนราชการหนึ่ง

 

หมวด 3

การบรรจุ การแต่งตั้ง และการเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือน

——

           มาตรา 21  ตำแหน่งข้าราชการตำรวจมีดังนี้

          (1) ลูกแถว

          (2) ผู้บังคับหมู่

          (3) รองสารวัตร

          (4) สารวัตร

          (5) สารวัตรใหญ่

          (6) รองผู้กำกับการ

          (7) ผู้กำกับการ

          (8) รองผู้บังคับการ

          (9) ผู้บังคับการ

         (10) ผู้ช่วยผู้บัญชาการ

         (11) รองผู้บัญชาการ

         (12) ผู้บัญชาการ

         (13) ผู้ช่วยอธิบดี

         (14) รองอธิบดี

         (15) อธิบดี

          นอกจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง อาจให้มีตำแหน่งข้าราชการตำรวจที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงได้ ตำแหน่งดังกล่าวจะเทียบกับตำแหน่งใดตามวรรคหนึ่ง ให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนั้นด้วย กฎกระทรวง เช่นว่านี้ ให้ได้รับความเห็นชอบของ ก.ตร. ก่อน

         มาตรา 21 ทวิ(1)

          มาตรา 22  การบรรจุข้าราชการตำรวจให้บรรจุดังต่อไปนี้

          (1) ชั้นพลตำรวจ

              (ก) พลตำรวจกองประจำการซึ่งต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

              (ข) พลตำรวจสำรอง พลตำรวจสำรองพิเศษ และพลตำรวจสมัคร ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีบรรจุจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือก

              การบรรจุต้องบรรจุไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของชั้นนั้น ๆ เว้นแต่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักศึกษาของกรมตำรวจ จะบรรจุสูงกว่าขั้นต่ำของชั้นนั้นก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

              (ค) พลตำรวจพิเศษ ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี บรรจุจากพลตำรวจสำรองพิเศษ หรือพลตำรวจสมัครที่ถูกเรียกเข้ากองประจำการเป็นตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

         (2) ชั้นประทวน ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี  บรรจุจากบุคคลซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสำนักศึกษาของกรมตำรวจ หรือบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกหรือสอบแข่งขันได้

              การบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากสำนักศึกษาของกรมตำรวจหรือผู้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องบรรจุให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าอัตราเงินเดือนที่ ก.ตร.กำหนดสำหรับประกาศนียบัตรวิชาชีพนั้น ๆ โดยคำนึงถึงอัตราเงินเดือนตามที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกำหนดสำหรับประกาศนียบัตรวิชาชีพเดียวกันด้วย

              การบรรจุผู้ที่มิได้สำเร็จการศึกษาจากสำนักศึกษาของกรมตำรวจหรือมิได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนต้องบรรจุไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของสิบตำรวจตรี

          (3) ชั้นสัญญาบัตร ให้รัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรี บรรจุจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกหรือสอบแข่งขันได้ โดยได้รับอนุมัติจาก ก.ตร.

              การบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือผู้ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องบรรจุให้ได้รับเงินเดือนไม่สูงกว่าอัตราเงินเดือนที่ ก.ตร. กำหนดสำหรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพนั้น ๆ โดยคำนึงถึงอัตราเงินเดือนตามที่คณะกรรมการข้าราชการ พลเรือนกำหนดสำหรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเดียวกันด้วย

              การบรรจุผู้ที่มิได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจหรือผู้มิได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ต้องบรรจุไม่เกินอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของร้อยตำรวจตรี

           มาตรา 23(1)  การบรรจุข้าราชการตำรวจชั้นประทวนหรือชั้นสัญญาบัตรตามมาตรา 22 ถ้าผู้ได้รับการบรรจุได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 22 นั้นอยู่แล้ว ก็ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับอยู่

          ในวันที่พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจบัญชี ก. มีผลใช้บังคับข้าราชการตำรวจผู้ใดได้รับเงินเพิ่มการเลื่อนฐานะอยู่ให้นำเงินเพิ่มการเลื่อนฐานะนั้นรวมกับเงินเดือนที่ได้รับเป็นอัตราเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ หมายเลข 3 ท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ถ้าอัตราเงินเดือนที่รวมแล้วไม่ตรงกับอัตราเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนดังกล่าว ให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นได้รับเงินเดือนในอัตราเงินเดือนในขั้นที่ถัดขึ้นไป  ทั้งนี้ ให้ดำเนินการก่อนการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตามมาตรา 7

          มาตรา 24  ภายใต้บังคับมาตรา 20  การแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจดำรงตำแหน่ง ให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

          (1) ตำแหน่งลูกแถวหรือเทียบลูกแถว ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีแต่งตั้งจาก

ข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจ

          (2) ตำแหน่งผู้บังคับหมู่หรือเทียบผู้บังคับหมู่ ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นประทวนแต่เฉพาะตำแหน่งผู้บังคับหมู่นั้นจะแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นพลตำรวจก็ได้

          (3) ตำแหน่งรองสารวัตรหรือเทียบรองสารวัตร ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าร้อยตำรวจเอก

          (4) ตำแหน่งสารวัตรหรือเทียบสารวัตร ให้อธิบดีแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจโทขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจโท

          (5) ตำแหน่งสารวัตรใหญ่หรือเทียบสารวัตรใหญ่ ตำแหน่งรองผู้กำกับการหรือเทียบรองผู้กำกับการ ให้อธิบดีแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจเอกขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจโท

          (6) ตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบผู้กำกับการ ให้อธิบดีแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจตรีขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจเอก

          (7) ตำแหน่งรองผู้บังคับการหรือเทียบรองผู้บังคับการ ให้อธิบดีแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจโทขึ้นไป  แต่ไม่สูงกว่าพันตำรวจเอกซึ่งได้รับเงินเดือนอัตราพันตำรวจเอก(พิเศษ)

          (8) ตำแหน่งผู้บังคับการหรือเทียบผู้บังคับการ ให้อธิบดีพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่าพลตำรวจตรี และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี  เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้อธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง

          (9) ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการหรือเทียบผู้ช่วยผู้บัญชาการให้รัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจยศพันตำรวจเอกซึ่งได้รับเงินเดือนอัตราพันตำรวจเอก(พิเศษ) ขึ้นไป และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

         (10) ตำแหน่งรองผู้บัญชาการหรือเทียบรองผู้บัญชาการ ตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบผู้บัญชาการ หรือตำแหน่งที่สูงกว่านั้นขึ้นไป ให้รัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจตรีขึ้นไป และเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

          การแต่งตั้งตาม (6) และ (7) และการคัดเลือกตาม (8) ถึง (10) ต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ก่อน

           มาตรา 25  การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจและการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งใด ผู้ได้รับการบรรจุหรือได้รับการแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งและยศตามที่ ก.ตร. กำหนดไว้ตามมาตรา 20

          ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น ก.ตร. อาจอนุมัติให้บรรจุหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มีคุณสมบัติเฉพาะ

ต่างไปจากที่กำหนดไว้ก็ได้

          มาตรา 26  ถ้าตำแหน่งข้าราชการตำรวจตำแหน่งใดว่างลงและยังมิได้แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งนั้น หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้ผู้บังคับบัญชาดังต่อไปนี้มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจซึ่งเห็นสมควรรักษาการในตำแหน่งนั้นชั่วคราวได้

          (1) รัฐมนตรี สำหรับตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบผู้บัญชาการขึ้นไป

          (2) อธิบดี สำหรับตำแหน่งตั้งแต่รองผู้บัญชาการหรือเทียบรองผู้บัญชาการลงมา

          (3) ผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี สำหรับตำแหน่งตั้งแต่ผู้กำกับการหรือเทียบผู้กำกับการลงมา

          มาตรา 27  ในกรณีที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่งตามมาตรา 26 และมีผู้ดำรงตำแหน่งรอง ให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองรักษาราชการแทน ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งรองไม่มีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ และมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ให้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีผู้ดำรง  ตำแหน่งรองหรือผู้ช่วยหลายคน ให้ผู้มีอาวุโสตามที่ ก.ตร. กำหนดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วยหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งถัดลงไปซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้มีอาวุโสสูงตามที่ ก.ตร.กำหนด เป็นผู้รักษาราชการแทน

          มาตรา 28  ในกรณีที่ส่วนราชการใดมีผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วย หรือมีทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองและผู้ช่วย หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งหรือผู้รักษาราชการแทน หัวหน้าส่วนราชการนั้นจะมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองหรือผู้ช่วยปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าส่วนราชการนั้นก็ได้

          มาตรา 29  ให้ผู้รักษาการในตำแหน่งตามมาตรา 26 หรือผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา 27 หรือผู้ปฏิบัติราชการแทนตามมาตรา 28 มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้น หรือผู้ซึ่งตนแทน หรือผู้ซึ่งมอบหมายหรือมอบอำนาจ แล้วแต่กรณี

          ในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นกรรมการ หรือให้มีอำนาจหน้าที่อย่างใดให้ผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้รักษาราชการแทนหรือผู้ปฏิบัติราชการแทน ทำหน้าที่กรรมการหรือมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้น ในระหว่างที่รักษาการในตำแหน่งรักษาราชการแทน หรือปฏิบัติราชการแทนด้วย แล้วแต่กรณี

          มาตรา 30  การโอนข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ และไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ข้าราชการวิสามัญ หรือข้าราชการซึ่งอยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือการโอนพนักงานเทศบาลที่ไม่ใช่พนักงานเทศบาลวิสามัญ มาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจอาจกระทำได้ ถ้าเจ้าตัวสมัครใจ โดยกรมตำรวจทำความตกลงกับเจ้าสังกัดแล้วเสนอเรื่องไปให้ ก.ตร. พิจารณาอนุมัติ ในการนี้ให้ ก.ตร. พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ  ทั้งนี้ จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ชั้นยศใด และจะให้ได้รับเงินเดือนเท่าใด ให้ ก.ตร. เป็นผู้พิจารณากำหนด แต่เงินเดือนที่จะให้ได้รับต้องไม่สูงกว่าเงินเดือนเดิม

         เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาราชการ ให้ถือเวลาราชการหรือเวลาทำงานของผู้ที่โอนมาตามวรรคหนึ่งในขณะที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานเทศบาลนั้น เป็นเวลาราชการของข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

          มาตรา 31  ข้าราชการตำรวจผู้ใดได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ออกจากราชการไปปฏิบัติงานใด ๆ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญเหมือนเต็มเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ

ข้าราชการ ถ้าผู้นั้นกลับเข้ารับราชการภายในกำหนดเวลาสี่ปีนับแต่วันออกจากราชการไปปฏิบัติงานดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 22 สั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ชั้นยศ และรับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา 32  ข้าราชการตำรวจผู้ใดออกจากราชการไปแล้ว และไม่ใช่เป็นกรณีออกจากราชการในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ถ้าสมัครเข้ารับราชการและกรมตำรวจต้องการจะรับผู้นั้นเข้ารับราชการ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 22 สั่งบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ชั้นยศ และรับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา 33  ข้าราชการที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจ และไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ข้าราชการวิสามัญ หรือข้าราชการซึ่งออกจากราชการในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือพนักงานเทศบาลที่ไม่ใช่พนักงานเทศบาลวิสามัญผู้ใดออกจากราชการหรือออกจากงานไปแล้ว ถ้าสมัครเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจและกรมตำรวจต้องการจะรับผู้นั้นเข้ารับ   ราชการ ให้นำมาตรา 30 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 34  ผู้ได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด จะให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งนั้นก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงในระหว่างเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้นั้นมีความประพฤติไม่ดีหรือไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง หรือเมื่อครบกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการให้ผู้บังคับบัญชาทำรายงานผลการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้นั้นเสนอตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 22

          เมื่อได้รับรายงานจากผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 22 พิจารณาว่า ผู้นั้นมีความประพฤติ ความรู้ และความสามารถ เหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งหรือไม่ถ้าเห็นว่าไม่ควรให้รับราชการต่อไปก็ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ ถ้าเห็นว่าควรให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอีกระยะหนึ่ง ภายในกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการตามวรรคหนึ่ง จะสั่งให้ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปก็ได้ โดยให้ผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งและผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 22 ดำเนินการตามมาตรานี้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเห็นว่าควรให้ผู้นั้น

รับราชการต่อไปได้เมื่อครบกำหนดเวลาทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 22 รายงานให้ ก.ตร. ทราบตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          ผู้อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งใด ถ้าได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่น ให้เริ่มทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการใหม่

          ผู้อยู่ในระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการซึ่งถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีความประพฤติไม่ดี หรือไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ถือเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับจากทางราชการในระหว่างที่ผู้นั้นทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ

          มาตรา 35  การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งอื่นต้องแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม

          การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. เป็นพิเศษเฉพาะราย

          มาตรา 36  ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำกรม ประจำกอง หรือประจำส่วนราชการใด แล้วแต่กรณีเป็นการชั่วคราว โดยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เดิม หรือให้สำรองราชการส่วนราชการใด โดยให้ขาดจากอัตราเงินเดือนในตำแหน่งเดิมก็ได้  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนการรักษาวินัยและการออกจากราชการของข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา 37  การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตั้งแต่ร้อยตำรวจเอกลงมา ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีเป็นผู้พิจารณาและสั่งเลื่อน

          การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตั้งแต่พันตำรวจตรีถึงพันตำรวจเอก เว้นแต่พันตำรวจเอกซึ่งได้รับเงินเดือนอัตราพันตำรวจเอก(พิเศษ) ให้อธิบดีเป็นผู้พิจารณาและสั่งเลื่อน

          การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจขึ้นรับอัตราเงินเดือนพันตำรวจเอก (พิเศษ) หรือเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตั้งแต่พันตำรวจเอกซึ่งได้รับเงินเดือนอัตราพันตำรวจเอก (พิเศษ) ขึ้นไป  เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก ก.ตร. แล้ว ให้รัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

          การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเกินสองขั้นต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. เป็นพิเศษเฉพาะราย

          มาตรา 38  ข้าราชการตำรวจผู้ใดถึงแก่ความตาย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือนให้ผู้นั้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญก็ได้

          มาตรา 39  ภายใต้บังคับบทบัญญัติอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้ การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งอื่นที่ไม่สูงกว่าเดิม การเลื่อนขั้นและอัตราเงินเดือน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการลงโทษข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรหรือเทียบสารวัตรลงมาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคของกรมตำรวจ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสั่งได้

 

หมวด 4

การคัดเลือกและการสอบแข่งขัน

——

           มาตรา 40  ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกหรือผู้ที่จะสอบแข่งขันเป็นข้าราชการตำรวจต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 41 หรือแม้จะขาดคุณสมบัติตามมาตรา 41 แต่ผู้นั้นได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42 และมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรา 20

          มาตรา 41  ผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกหรือผู้ที่จะสอบแข่งขันเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมีคุณสมบัติทั่วไปดังนี้

          (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

          (2) อายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี

          (3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          (4) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง

          (5) ไม่เป็นผู้มีกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไร้ความสามารถหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          (6) ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

          (7) ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี

          (8) ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

          (9) ไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลาย

         (10) ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

         (11) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกจากองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

         (12) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออกหรือปลดออกเพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

         (13) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

         (14) ไม่เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ

         (15) ในกรณีที่เป็นชาย

              (ก) ร่างกายต้องสูงไม่น้อยกว่า 158 เซนติเมตร และรอบอกต้องไม่น้อยกว่า 77 เซนติเมตร

              (ข) ถ้าเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ใช้กฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารต้องขึ้นบัญชีทหารกองเกินตามกฎหมายนั้นแล้ว

          ในกรณีที่เป็นหญิง ร่างกายต้องสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร

          มาตรา 42  ผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 41 (7) (8) (9) (10) หรือ (14) ก.ตร. อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ ส่วนผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไป ตามมาตรา 41 (11) หรือ (12) ถ้าผู้นั้นได้ออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสองปีแล้ว หรือผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 41 (13) ถ้าผู้นั้นได้ออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว และมิใช่กรณีออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะกระทำผิดในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ ก.ตร. อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ มติ ก.ตร. ในการประชุมปรึกษายกเว้นเช่นนี้ต้องเป็นเอกฉันท์ การลงมติให้กระทำโดยลับ

          มาตรา 43  ให้ ก.ตร. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการคัดเลือกและการสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจ

          มาตรา 44  การคัดเลือกหรือการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีเป็นผู้ดำเนินการ

 

หมวด 5

วินัยและการรักษาวินัย

——

           มาตรา 45  วินัยและการรักษาวินัยของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ

  

หมวด 6

การออกจากราชการ

——

           มาตรา 46  ข้าราชการตำรวจออกจากราชการ เมื่อ

          (1) ตาย

          (2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

          (3) ได้รับอนุญาตให้ลาออกตามมาตรา 49

          (4) ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 34 มาตรา 48 มาตรา 50  มาตรา 51 มาตรา 52 หรือมาตรา 53

          (5) ถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ

          วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ตร. กำหนด

          มาตรา 47  การออกจากราชการของข้าราชการตำรวจ เฉพาะผู้ที่ต้องรับราชการตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น

          มาตรา 48  ผู้ได้รับบรรจุเข้าเป็นข้าราชการตำรวจผู้ใด หากภายหลังปรากฏว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 41 หรือขาดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามมาตรา 20 ตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุให้ผู้สั่งบรรจุตามมาตรา 22 สั่งให้ออกจากราชการ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่และการรับเงินเดือนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่รับจากทางราชการก่อนมีคำสั่งให้ออกนั้น และถ้าการเข้ารับราชการเป็นไปโดยสุจริตแล้ว ให้ถือว่าเป็นการสั่งให้ออกเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

          มาตรา 49  ข้าราชการตำรวจผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับการหรือเทียบผู้บังคับการลงมา ให้อธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งอธิบดีมอบหมายเป็นผู้พิจารณาและสั่งอนุญาตให้ออกจากราชการแต่ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้บัญชาการหรือเทียบผู้ช่วยผู้บัญชาการขึ้นไป ให้รัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาและสั่งอนุญาตให้ออกจากราชการ

          ในกรณีที่ข้าราชการตำรวจขอลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้ง ให้การลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ผู้นั้นขอลาออก

          นอกจากกรณีตามวรรคสอง ถ้าอธิบดีหรือผู้บังคับบัญชาซึ่งอธิบดีมอบหมาย หรือรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ราชการจะยับยั้งการอนุญาตให้ลาออกไว้เป็นเวลาไม่เกินสามเดือนนับแต่วันขอลาออกก็ได้

          มาตรา 50  ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ แต่ในการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน  นอกจากให้ทำได้ในกรณีที่ระบุไว้ในมาตราอื่นแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือในกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจหรือกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้ว ให้ทำได้ในกรณีต่อไปนี้ด้วย คือ

          (1) เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ ถ้าผู้มีอำนาจดังกล่าวเห็นสมควรให้ออกจากราชการแล้ว ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้

          (2) เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดสมัครไปปฏิบัติงานใดๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ

           (3) เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 41 (1) (4) หรือ (5) ให้ผู้มีอำนาจดังกล่าวสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ

          มาตรา 51  เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดหย่อนความสามารถด้วยเหตุใด ในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนหรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือบกพร่องในหน้าที่ด้วยเหตุใด และถ้าผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งผู้กำกับการหรือเทียบผู้กำกับการขึ้นไป เห็นว่า ถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้า ในการสอบสวนนี้จะต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาเท่าที่มีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยจะระบุหรือไม่ระบุชื่อพยานก็ได้ และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา

ชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาด้วย เมื่อได้มีการสอบสวนแล้ว ถ้าคณะกรรมการหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าสมควรให้ออกจากราชการ ก็ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเสนอเรื่องตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 ในกรณีที่ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 พิจารณาเห็นว่าสมควรให้ออกจากราชการ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนลงมา ก็ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้ แต่ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ก็ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 ส่งเรื่องให้อนุกรรมการ   สามัญประจำกระทรวง ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนพิจารณา ในกรณีที่อนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงมีมติให้ผู้นั้นออกจากราชการ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้

          มาตรา 52  เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้มีการสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจแล้ว  การสอบสวนไม่ได้ความว่ากระทำผิดที่จะถูกลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกแต่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนนั้น ซึ่งจะให้รับราชการต่อไปอาจจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก็ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 สั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนได้  ทั้งนี้  ให้นำมาตรา 51 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 53  เมื่อข้าราชการตำรวจผู้ใดต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษ ให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก ผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 จะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนก็ได้

          มาตรา 54  การออกจากราชการของข้าราชการตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการหรือเทียบผู้ช่วยผู้บัญชาการขึ้นไปหากเป็นกรณีตามมาตรา 46 (1) (2) และ (3) ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ แต่ถ้าเป็นการออกจาก

ราชการตาม (4) และ (5) ให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันออกจากราชการ

          มาตรา 55  ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 34 มาตรา 48 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 หรือมาตรา 53ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้และให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด 7

การร้องทุกข์

——

 

          มาตรา 56  การร้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ

 

 

บทเฉพาะกาล

——

           มาตรา 57  ให้มีการแต่งตั้งกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 13 (2) ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

          ในระยะเริ่มแรกที่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 13 (2) ให้ ก.ตร. ประกอบด้วยกรรมการข้าราชการตำรวจโดยตำแหน่งตามมาตรา 13 (1) ทุกคน และมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน

          มาตรา 58  ผู้ใดเป็นข้าราชการตำรวจที่มียศตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ต่อไป

          การปรับขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่มียศตามวรรคหนึ่งให้เข้าขั้นและอัตราเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจหมายเลข 1 ท้ายพระราชบัญญัตินี้  รวมทั้งการกำหนดเงินเดือนที่จะได้รับให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          มาตรา 59  ผู้ใดเป็นข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518  อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  ให้ผู้นั้นเป็นข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ได้รับยศขั้นและอัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มตามที่ ก.ตร.กำหนด

          การกำหนดยศ ขั้น และอัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งของข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศผู้ใด ให้กำหนดโดยเทียบระดับและอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศผู้นั้นกับยศ และขั้นและอัตราเงินเดือนของข้าราชการตำรวจที่มียศตามที่เป็นอยู่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่มียศ พ.ศ. 2519 แล้วจึงให้ปรับขั้นและอัตราเงินเดือนตามมาตรา 58

          ความในมาตรา 41 (15) มิให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่ง

          ให้ ก.ตร. กำหนดยศและขั้นและอัตราเงินเดือนตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในระหว่างนั้นให้ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือนตามที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน

          มาตรา 60  ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวงหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นำกฎกระทรวง กฎ ก.พ. มติของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งที่ใช้อยู่เดิมมาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 61  ในระหว่างที่ยังมิได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 ให้นำบทบัญญัติในหมวด 4 หมวด 5 และหมวด 7 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับแก่เรื่องวินัยและการรักษาวินัยการออกจากราชการ และการอุทธรณ์ของข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม โดยให้ถือว่า   เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยวินัยตำรวจ  ทั้งนี้ โดยให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรืออำนาจหน้าที่ของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.ตร. หรือของผู้มีอำนาจตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี

        มาตรา 62  ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยหรือกรณีที่สมควรให้ออกจากราชการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้บังคับบัญชาตามพระราชบัญญัตินี้ดำเนินการเพื่อสั่งลงโทษผู้นั้นหรือให้ผู้นั้นออกจากราชการตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ส่วนการสอบสวนพิจารณาให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่

          (1) ในกรณีที่ได้มีการสั่งให้สอบสวนโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและยังสอบสวนไม่เสร็จก็ให้สอบสวนตามกฎหมายนั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จ

          (2) ในกรณีที่ได้มีการสอบสวนพิจารณาโดยถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นเสร็จไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้การสอบสวนพิจารณานั้นเป็นอันใช้ได้

          มาตรา 63  ในกรณีใดที่พระราชบัญญัตินี้มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะให้นำบทกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนสามัญมาใช้บังคับแก่ข้าราชการตำรวจเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

          การใดที่เคยดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ใช้อยู่ก่อนวันที่ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ และมิได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ จะดำเนินการได้ประการใดให้เป็นไปตามที่ ก.ตร.กำหนดโดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย

          มาตรา 64  ภายใต้บังคับมาตรา 58 การใดที่ได้ดำเนินการไปแล้วหรือกำลังดำเนินการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแม้การนั้นจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ถ้าการนั้นได้กระทำ โดยชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าการนั้นชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการใดที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จในวันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้เท่าที่จะทำได้และให้นำความในวรรคสองของมาตรา 63 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา 65  ในกรณีที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดอ้างถึงหรือหมายความรวมถึงข้าราชการตำรวจในฐานะที่เป็นข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้ถือว่ากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีนั้นอ้างถึงหรือหมายความรวมถึงข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

 

   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

   พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

        นายกรัฐมนตรี

 

——————————————————

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือนการรักษาวินัย ตลอดจนการออกจากราชการ การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์ของข้าราชการตำรวจมีลักษณะแตกต่างกับข้าราชการพลเรือนประเภทอื่นจึงไม่สมควรให้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนและควรให้อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจโดยเฉพาะซึ่งจะช่วยทำให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและจะเป็นผลดีแก่ราชการกรมตำรวจ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

———————-

   [หมายเหตุ: บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ และบัญชีอัตราเงินเดือน

   ประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจท้ายพระราชบัญญัติฯ แยกไปบัญญัติไว้ใน

   กฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะแล้ว]

 

 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2531

          มาตรา 7  การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจให้เข้าระดับและขั้นเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ บัญชี ก. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ บัญชี ข. บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ บัญชี ค. หรือบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ บัญชี ง. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ และตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          เมื่อปรับอัตราเงินเดือนตามวรรคหนึ่งแล้ว เฉพาะข้าราชการตำรวจผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำหรือสูงกว่าขั้นสูงของระดับ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นตามที่กำหนดไว้ในบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ

          ข้าราชการตำรวจซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งนับแต่วันปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่ง ถ้าได้รับเงินเดือนต่ำกว่าขั้นต่ำของระดับที่ได้เลื่อนตามบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นต่ำของบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจแต่ถ้าได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นต่ำของระดับที่ได้เลื่อนตามบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ก็ให้ได้รับเงินเดือนในขั้นที่ได้รับอยู่

          การรับเงินเดือนในขั้นต่อ ๆ ไปของข้าราชการตำรวจตามวรรคสองและวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          มาตรา 8  การปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตามมาตรา 7 ให้มีผลเป็นการปรับขั้นและอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่ได้รับอยู่และที่ได้กำหนดไว้โดยพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีตามไปด้วย

          มาตรา 9  เพื่อประโยชน์ในการบรรจุบุคคลซึ่งเคยเป็นข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 และออกจากราชการไปก่อนวันที่บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กลับเข้ารับราชการ ให้ปรับอัตราเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับอยู่ก่อนออกจากราชการให้เข้าระดับและขั้นเงินเดือนตามบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 7

          มาตรา 10  ในระหว่างที่ยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ บัญชี ก. ตามมาตรา 6 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้  ให้นำบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจหมายเลข 3 ท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาใช้บังคับไปพลางก่อน

          มาตรา 11  ข้าราชการตำรวจที่ได้รับเงินเดือนไม่เกินอัตราเงินเดือนยศพันตำรวจโทอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้เลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี และผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนเห็นสมควรเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ แต่ข้าราชการตำรวจผู้นั้นได้รับเงินเดือนเต็มขั้นตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจหมายเลข 3 ท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 หรือจะต้องพ้นจากราชการไปเพราะเกษียณอายุตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการในวันสิ้นปีงบประมาณ 2531 ให้ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ หมายเลข 3 ในขั้นของชั้นยศถัดขึ้นไป

         [รก.2531/181/21พ/7 พฤศจิกายน 2531]

 ———————————

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจในบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ได้ใช้เป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสถานภาพของตำแหน่งและภาวะการครองชีพในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับเงินเดือนทหาร จำเป็นต้องกำหนดขั้นเงินเดือน อัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจแต่ละชั้นยศ และปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจเสียใหม่ รวมทั้งให้มีการให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนแต่ละบัญชีได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 ———————

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535

           มาตรา 6  เพื่อประโยชน์ในการบรรจุบุคคลซึ่งเคยเป็นข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 และออกจากราชการไปก่อนวันที่บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจตามพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ กลับเข้ารับราชการ  ให้ปรับอัตราเงินเดือนที่ผู้นั้นได้รับอยู่ก่อนออกจากราชการให้เข้าระดับและขั้นเงินเดือน ตามบัญชีกำหนดการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัตินี้

 —————————————–

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ ในบัญชีอัตราเงินเดือนท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2531 ได้ใช้เป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสถานภาพของตำแหน่งและภาวะการครองชีพในปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับอัตราเงินเดือน ให้มีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการ   ตำรวจแต่ละชั้นยศ และปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจเสียใหม่รวมทั้งให้มีการให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนใหม่และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจได้ ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์  จึงจำเป็นต้องตรา

พระราชบัญญัตินี้

         [รก.2535/35/23/3 เมษายน 2535]

 

———————-

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2538

 

           มาตรา 7  ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจ และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตำรวจท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535

 ——————————————–

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแยกบัญชีอัตราเงินเดือนและบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจไปบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งซึ่งเป็นกฎหมาย

เฉพาะแล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการตำรวจให้สอดคล้องกัน  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

         [รก.2538/1ก/39/1 มกราคม 2538]

Exit mobile version