Site icon กฏหมาย ศาล อัยการ ทนาย คุก

ตุ๊กตาหินในวัดพระแก้ว ถูกฝังดินเมื่อไหร่ และทำไม ? ฟันธง ‘ไม่เกี่ยวคณะราษฎร’ – มติชน

ตุ๊กตาหินในวัดพระแก้ว-ถูกฝังดินเมื่อไหร่-และทำไม-?-ฟันธง-‘ไม่เกี่ยวคณะราษฎร’-–-มติชน
ผู้เขียน รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และกลุ่มกรุงเทพศึกษา

การขุดค้นพบตุ๊กตาหินโดยบังเอิญในพื้นที่พระราชวังหลวง ระหว่างกำแพงวังกับกำแพงวัดพระแก้ว ราว 130 ชิ้น เมื่อกรกฎาคม 2564 โดยเปิดเผยข่าวและจัดแสดง 33 ชิ้นเมื่อกลางกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสนใจให้ประชาชนอย่างมากกว่า สร้างเมื่อไหร่ แกะสลักหินอ่อนกันที่ไหน เป็นอับเฉาหรือไม่ ฯลฯ และคำถามท้ายสุดคือ เอาไปฝังเมื่อไหร่ ทำไมต้องฝังดิน

(อ่าน นักประวัติศาสตร์ถอดรหัส ‘ตุ๊กตาหินวัดพระแก้ว’ ย้อนปากคำ ‘คาร์ล บ็อค’ ครั้ง ร.5)

​วันนี้ เราทราบแล้วว่า การสร้างตุ๊กตาหินนั้นก็เพื่อนำมาประดับโดยรอบบริเวณวัดพระแก้วในวาระฉลอง 100 ปีรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่งานแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี 2425 ซึ่งมีพิธีเปิดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท อาคารฝรั่งผสมกับยอดปราสาท และโครงการสร้างอาคารมหึมาที่ชื่อว่า กระทรวงกลาโหม อาคารตึกสี่เหลี่ยมแบบป้อมปราการสูงสามชั้นขนาดใหญ่ที่สุดในพระนคร

ไกรฤกษ์ นานา ได้สรุปจากการสืบค้นเอกสารว่าภาพและบันทึกข้อเขียนของฝรั่งที่ได้มาเยือนวัดพระแก้วที่กล่าวถึงตุ๊กตาหินคนท้ายสุดนั้นปรากฏอยู่ในงานของ แฟรง จี. คาร์เพนเตอร์ หนังสือชื่อ Carpenter’s World Travels (การเดินทางรอบโลกของคาร์เพนเตอร์) พิมพ์ปี 1926 (พ.ศ. 2469) หลังจากนั้นก็ไม่พบการกล่าวถึงตุ๊กตาหินเหล่านี้อีกเลย

ทว่า เมื่อมีการขุดพบอีกครั้งและนำบางส่วนมาจัดแสดงภายในบริเวณลานวัดพระแก้ว ก็เริ่มมีเสียงเล่าลือว่า พวกคณะราษฎรเป็นผู้เอาตุ๊กตาหินเหล่านี้ไปฝังดิน นัยหนึ่งของคำอธิบายที่ซ่อนเร้นนี้คือ พวกคณะราษฎรเป็นเสมือนผู้จ้องทำลายสิ่งต่างๆ ของฝ่ายระบอบเก่า แต่เมื่อใคร่ครวญพิจารณาโดยตรรกะเหตุผล ถ้าเป็นฝีมือของคณะราษฎรหลังปฏิวัติ 2475 จริง เมื่อมีการล้มคณะราษฎรลงไปเมื่อปี 2490 นั้น ฝ่ายเจ้านายที่คุ้นเคยกับวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เช่น หม่อมเจ้าธานีนิวัติ ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ตลอดสมัยรัชกาลที่ 7 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และตั้งแต่กลางทศวรรษ 2490 ก็ได้เป็นประธานองคมนตรีสมัยรัชกาลที่ 9 มายาวนาน ได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พบว่า ไม่มีข้อเขียนของปัญญาชนเจ้านายองค์นี้เขียนเกี่ยวกับการหายไปของตุ๊กตาหินเหล่านี้แต่ประการใด

แม้แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แต่งนิยายสี่แผ่นดินในกลางทศวรรษ 2490 นี้ ทั้งเป็นผู้มีข้อมูลและความจำที่ดีเกี่ยวกับเรื่องวังเรื่องเจ้านายทั้งหลายนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจะกล่าวถึงตุ๊กตาหินเหล่านี้แต่อย่างใด
เพราะหากคณะราษฎรได้นำตุ๊กตาหินเหล่านี้ไปฝังจริง ก็คงไม่รอดพ้นจากสายตาและการรื้อฟื้นนำกลับคืนมาของทั้งสองท่านนี้อย่างแน่นอน

สรุปคือ การนำตุ๊กตาหินไปฝังดินไม่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรอย่างแน่นอน และไม่น่าจะเกิดหลังจากปีปฏิวัติ 2475

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ตุ๊กตาหินวัดพระแก้วถูกย้ายและนำไปฝังดินเกิดขึ้นในระหว่างปี 2470-2474 ในสมัยพระปกเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ซึ่งก็สอดคล้องกับการมีการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อฉลอง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2475

ถ้าเราจะนึกถึงมรดกงานฉลอง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ 6 เมษายน 2475 นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานเหล็กที่เปิดยกตรงกลางให้เรือใหญ่ผ่านได้ เพื่อเชื่อมฝั่งพระนครกับจังหวัดธนบุรี ทั้งยังมีปฐมบรมราชานุสรณ์สำริดขนาดใหญ่มากที่ฝั่งกรุงเทพฯ และยังมีโครงการภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในระเบียงคตวัดพระแก้วที่วาดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2472-2474

ดังนั้น ในวาระฉลอง 150 ปีกรุงรัตนโกสินทร์จึงเป็นวาระอันดีในการปรับเปลี่ยนจัดย้ายสิ่งต่างๆ ในวัดพระแก้ว
สอดคล้องกับเอกสารในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 48 หน้า 470 วันที่ 11 พฤษภาคม 2474 ที่คณะกรรมการตรวจงบบัญชีเงินรับ เงินจ่าย และเงินคงทุนสำหรับปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรอบ 6 เดือนของครึ่งปีหลังของปี 2473 รายจ่ายในรอบครึ่งปีนี้ จ่ายมากสุดเกี่ยวกับค่าเขียนภาพผนังและทำรั้วเหล็กกั้นภาพในวิหารคตถึง 19,353 บาท รองลงมาคือการซ่อมและเขียนภาพผนังในหอมณเฑียรธรรม 17,650 บาท และซ่อมพระอุโบสถ 16,420 บาท

หากพิจารณารายการจ่ายเงิน เห็นได้ว่า วัดพระแก้วได้รับการซ่อมแซมใหม่ไปทุกจุด และมีรายการหนึ่งระบุว่าเป็น “ค่ารื้อย้ายตุ๊กตา กะถางต้นไม้ และแท่นหินเป็นต้น” เป็นเงิน 431 บาท
การปฏิสังขรณ์ยังมีต่อเนื่องมาถึงปี 2474 เห็นได้ว่า ยังมีเงินเหลืออีกเกือบสี่แสนบาทสำหรับการปฏิสังขรณ์ต่อไป

ในเอกสารระบุว่าผู้ที่เป็นนายคลังเงินคือ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (ม.ร.ว.มูล ดารากร) ได้เป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ตั้งแต่ปี 2464 สมัยรัชกาลที่ 6 และยังดำรงตำแหน่งนี้ตลอดสมัยรัชกาลที่ 7

กรมพระคลังข้างที่คือหน่วยงานที่ดูแลทรัพย์สมบัติของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การใช้จ่ายเงินในการซ่อมแซมรื้อย้ายในการปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วครั้งนี้ย่อมอยู่ในการกำกับของสำนักพระราชวังอย่างชัดเจน และยังเปิดเผยค่าใช้จ่ายรายรับรายจ่ายผ่านประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาด้วย
สรุป เอกสารนี้ชี้ชัดว่าตุ๊กตาหินถูกรื้อย้ายออกจากบริเวณวัดพระแก้วในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม 2473 (เปลี่ยนปีศักราชวันที่ 1 เมษายน) (ขอขอบคุณเอกสารจากคุณ Chatuwat Wong)
ทำไมจึงเอาตุ๊กตาหินมากถึงราว 130 ชิ้นไปฝังดิน

กิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ให้คำอธิบายว่า “การจัดเก็บโบราณวัตถุแบบฝังดินไว้นั้นเป็นเรื่องปกติ”

แต่ผมอยากเทียบกับการเอาปืนใหญ่โบราณฝั่งดินในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นที่ขุดพบปืนใหญ่วังหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2527 สิบกว่ากระบอก เมื่อครั้งมีการขุดดินสร้างประตูแบบโบราณด้านหน้าของธรรมศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ปืนใหญ่แบบใส่ดินปืนและลูกปืนจากด้านหน้ากระบอกที่ใช้กันมานานนั้น (เช่นปืนใหญ่ที่จัดแสดงหน้ากระทรวงกลาโหม) ได้ถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่แบบใหม่ที่ใส่ลูกทางท้ายกระบอก ดังนั้น เมื่อปืนใหญ่โบราณไร้ประโยชน์และมีจำนวนมาก วิธีที่ทำให้หายไปที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดคือฝั่งไว้ใต้ดิน
ด้วยแนวคิดเปรียบเทียบดังกล่าว

ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่า ตุ๊กตาหินจำนวนมากราว 130 ชิ้นเมื่อครั้งฉลอง 100 ปีรัตนโกสินทร์ ไม่สอดคล้องกับทัศนะความงามของยุคสมัยหรือถูกพิจารณาว่ามีคุณค่าน้อยลงเมื่อถึงงานฉลอง 150 ปีรัตนโกสินทร์ ดังนั้น ทางฝ่ายราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 7 จึงนำไปรักษาไว้ด้วยการฝังดินภายในกำแพงพระราชวังหลวงเมื่อปี 2473

—–

เชิญเที่ยว บางกอก Walking Tour อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – วัดสุทัศน์ เดินเที่ยวย่านศูนย์กลางอำนาจทางการเมือง 4 แบบ พุทธ พราหมณ์ การเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ บนถนนราชดำเนินและถนนดินสอ เส้นทาง 750 ม.

จัดโดย กลุ่มกรุงเทพศึกษา และกลุ่ม Young Citizen เสาร์ 20 สิงหาคม 2565 : 13.00-15.30 วิทยากร รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อ.สฏฐภูมิ บุญมา ค่าสมัคร 300฿ นักเรียนนักศึกษา 75฿ สมัครได้ที่ ID Line : golf.youngcitizen

(อ่าน หน่วยราชการในพระองค์ เผยแพร่ข้อมูลการขุดพบประติมากรรมหินสลัก ในวัดพระแก้ว)

Exit mobile version