Site icon กฏหมาย ศาล อัยการ ทนาย คุก

องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509

พระราชบัญญัติ องค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509

ในพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สังวาลย์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ให้ไว้ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2509

เป็นปีที่ 21 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

          โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งองค์การเภสัชกรรม

          พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

          มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509

          มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

           มาตรา 3  บรรดาบทกฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน

          มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้

          พนักงาน หมายความว่า  พนักงานขององค์การเภสัชกรรม

          ผู้อำนวยการ หมายความว่า  ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

          คณะกรรมการ หมายความว่า  คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม

          รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

          มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1

การจัดตั้ง ทุนและเงินสำรอง

           มาตรา 6 ให้จัดตั้งองค์การขึ้นเรียกว่า องค์การเภสัชกรรม มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

          (1) ผลิตยาและเวชภัณฑ์

          (2) ส่งเสริมให้มีการศึกษาและวิจัยการผลิตยาและเวชภัณฑ์

          (3) ส่งเสริมการวิเคราะห์ยาและเวชภัณฑ์รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาและเวชภัณฑ์

          (4) ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนและให้ซึ่งยาและเวชภัณฑ์

          (5) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์

          มาตรา 7  ให้องค์การเภสัชกรรมเป็นนิติบุคคล

          มาตรา 8  ให้องค์การเภสัชกรรมตั้งสำนักงานใหญ่ในจังหวัดพระนคร และจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่ใดก็ได้ ถ้าจะตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ต่างประเทศจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน

          มาตรา 9  ให้องค์การเภสัชกรรมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6  อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง

          (1) มีทรัพยสิทธิต่าง ๆ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง สร้าง ซื้อ เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จัดหา จำหน่าย ทำการแลกเปลี่ยน โอนและรับโอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งที่ดินหรือทรัพย์สินอื่น และมีสิทธิรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้

         (2) ร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลหรือส่วนราชการอื่นเพื่อประโยชน์แห่งกิจการองค์การเภสัชกรรม รวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลใด ๆ

         (3) กู้ ยืม ให้กู้ ให้ยืมเงิน โดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือด้วยทรัพย์

          มาตรา 10  ให้กำหนดทุนขององค์การเภสัชกรรมเป็นจำนวนหนึ่งร้อยล้านบาท โดยถือเอาเงินทุนหมุนเวียนเวชภัณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับเงินทุนของโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับตามมาตรา 11 เป็นทุนประเดิม และรัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ  ตามจำนวนที่รัฐบาลพิจารณาเห็นสมควร

          มาตรา 11  ให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สินและความรับผิดชอบของกองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และของโรงงานเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนเงินทุนหมุนเวียนเวชภัณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเงินทุนของโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขให้แก่องค์การเภสัชกรรม

          มาตรา 12  ทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการผลิตยาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

          มาตรา 13  เงินสำรองขององค์การเภสัชกรรม ให้ประกอบด้วยเงินสำรองเผื่อขาด เงินสำรองเพื่อไถ่ถอนหนี้ และเงินสำรองอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร

          มาตรา 14  เงินสำรองจะนำออกใช้ได้ก็แต่โดยมติของคณะกรรมการซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

          มาตรา 15  ให้องค์การเภสัชกรรมปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินขององค์การ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้วางไว้

 

หมวด 2

การกำกับ การควบคุมและการบริหาร

           มาตรา 16  ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การเภสัชกรรม เพื่อประโยชน์ในการนี้จะสั่งให้องค์การเภสัชกรรมชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำใด ๆ ซึ่งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีตลอดจนมีอำนาจที่จะสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินงานได้

          มาตรา 17  เรื่องที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีนั้น ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ

          มาตรา 18  ให้มีคณะกรรมการขององค์การเภสัชกรรมคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ประกอบด้วยประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าแปดคนแต่ไม่เกินสิบสี่คน  ทั้งนี้ รวมถึง   ผู้อำนวยการซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งหรือถอดถอนประธานกรรมการและกรรมการ

          มาตรา 19  ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กรรมการและผู้อำนวยการจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และต้องมีความรู้ความจัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการแพทย์ เภสัชกรรม วิทยาศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์หรือการบริหารธุรกิจ

          มาตรา 20  ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นประธานกรรมการ กรรมการหรือผู้อำนวยการ

          (1) เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากับองค์การเภสัชกรรมหรือในกิจการที่กระทำให้แก่องค์การเภสัชกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อประโยชน์ในการลงทุนโดยสุจริต ในบริษัทจำกัดที่กระทำการอันมีส่วนได้เสียเช่นว่านั้น

          (2) เป็นพนักงาน

          มาตรา 21  ภายใต้บังคับมาตรา 31 และมาตรา 32 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและควบคุม ดูแลทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การเภสัชกรรม อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

          (1) ดำเนินกิจการตามมาตรา 9

          (2) วางข้อบังคับการประชุม และการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ

          (3) วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงาน ระเบียบวินัย การลงโทษพนักงาน และการร้องทุกข์

          (4) วางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานขององค์การเภสัชกรรม

          (5) วางข้อบังคับว่าด้วยจำนวนอัตราตำแหน่ง อัตราเงินเดือน บำเหน็จของผู้อำนวยการและพนักงาน

          (6) วางข้อบังคับว่าด้วยเงินสะสมของผู้อำนวยการและพนักงาน

          (7) วางข้อบังคับเกี่ยวกับลูกจ้าง

          (8) วางข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัว

          ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานที่คณะกรรมการวางขึ้นตาม (4) นั้น ถ้ามีข้อความจำกัดอำนาจผู้อำนวยการในการทำนิติกรรมไว้ประการใด ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          ข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ ที่คณะกรรมการวางขึ้นตาม (8) นั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้

          มาตรา 22  ให้ประธานกรรมการและกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งห้าปี

          ประธานกรรมการและกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกก็ได้

          มาตรา 23  ประธานกรรมการและกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระตามมาตรา 22 เมื่อ

          (1) ตาย

          (2) ลาออก

          (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก

          (4) ขาดคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20

          ในกรณีที่มีการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการเข้าแทน แล้วแต่กรณี ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าแทนนี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

          มาตรา 24  ประธานกรรมการและกรรมการย่อมได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          มาตรา 25  ให้คณะกรรมการเป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการ

         ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนด ผู้อำนวยการย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออกหรือคณะกรรมการให้ออกจากตำแหน่ง

          การแต่งตั้ง การกำหนดเงินเดือนและการให้ออกจากตำแหน่งตามมาตรานี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

          มาตรา 26  ผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การเภสัชกรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่งและลูกจ้าง

          ผู้อำนวยการต้องรับผิดชอบในการจัดการและดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม

          มาตรา 27  ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การเภสัชกรรม และเป็นผู้กระทำการแทนองค์การเภสัชกรรม และเพื่อการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนขององค์การ   เภสัชกรรมที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 8 หรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

          ในกรณีที่มีข้อบังคับซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 21 วรรคสอง กำหนดว่านิติกรรมใด ผู้อำนวยการจะทำได้ก็แต่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการก่อน บรรดานิติกรรมที่ผู้อำนวยการทำขึ้นโดยมิได้รับความเห็นชอบดังกล่าวย่อมไม่ผูกพันองค์การเภสัชกรรม เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

          มาตรา 28  ผู้อำนวยการมีอำนาจ

          (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดหรือตัดเงินเดือนตลอดจนลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้นหัวหน้าฝ่ายหรือเทียบเท่าขึ้นไป  ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน

          (2) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์การเภสัชกรรมโดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

          มาตรา 29  เมื่อผู้อำนวยการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือเมื่อตำแหน่งผู้อำนวยการว่างลง และในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งผู้อำนวยการ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งพนักงานขององค์การเภสัชกรรมคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการแล้วแต่กรณี เป็นการชั่วคราว และให้นำมาตรา 20(1)  มาใช้บังคับโดยอนุโลม ให้ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับผู้อำนวยการ

          มาตรา 30  ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการและพนักงานอาจได้รับโบนัสตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

หมวด 3

ความสัมพันธ์กับรัฐบาล

          มาตรา 31  ในการดำเนินกิจการขององค์การเภสัชกรรมให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน

          มาตรา 32  องค์การเภสัชกรรมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้ได้

          (1) เพิ่มหรือลดทุน

          (2) กู้ยืมเงินครั้งหนึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าสามล้านบาท

          (3) จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์

          มาตรา 33  ให้องค์การเภสัชกรรมจัดทำงบประมาณประจำปี แยกเป็นงบลงทุนและงบทำการ สำหรับงบลงทุนให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่วนงบทำการให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

          มาตรา 34  รายได้ที่องค์การเภสัชกรรมได้รับจากการดำเนินงานให้ตกเป็นขององค์การเภสัชกรรม สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงาน ค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ค่าบำรุงรักษา ค่าเสื่อมราคา และเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานและครอบครัวตามมาตรา 21 ประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา 24 โบนัสตามมาตรา 30 เงินสำรองตามมาตรา 13 และเงินลงทุนตามงบลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 33 รายได้ที่ได้รับในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายดังกล่าวในวรรคหนึ่งแล้ว เหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

          มาตรา 35  ให้คณะกรรมการทำรายงานปีละครั้งเสนอรัฐมนตรีรายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานในปีที่ล่วงแล้วขององค์การเภสัชกรรม และคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะจัดทำในภายหน้า

 

หมวด 4

การร้องทุกข์และการสงเคราะห์

           มาตรา 36  ให้พนักงานและลูกจ้างมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

          มาตรา 37  ให้องค์การเภสัชกรรมจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในองค์การเภสัชกรรมและครอบครัวตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้

 

หมวด 5

การบัญชี การสอบและการตรวจ

           มาตรา 38  ให้องค์การเภสัชกรรมวางและรักษาไว้ซึ่งระบบการบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีการสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสมุดบัญชีลงรายการ

          (1) การรับและจ่ายเงิน

          (2) สินทรัพย์และหนี้สิน

          ซึ่งแสดงการงานที่เป็นอยู่ตามจริงและตามที่ควรตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นเหตุที่มาของรายการนั้น ๆ

          มาตรา 39  ทุกปี ให้สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีรวมทั้งการเงินขององค์การเภสัชกรรม

          มาตรา 40  ผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ขององค์การเภสัชกรรม เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถามประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ พนักงาน ลูกจ้าง และผู้อื่นซึ่งเป็นผู้แทนขององค์การเภสัชกรรม

          มาตรา 41  ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับจากวันสิ้นปีบัญชีขององค์การเภสัชกรรม ให้องค์การเภสัชกรรมโฆษณารายงานประจำปีของปีที่สิ้นสุดไปนั้น แสดงบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน พร้อมกับรายงานของผู้สอบบัญชีและตรวจบัญชีตามมาตรา 39

 

หมวด 6

บทเฉพาะกาล

           มาตรา 42  ในระหว่างที่การโอนเงินทุน กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และความรับผิด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 มาตรา 11 ยังไม่เสร็จสิ้น ให้กองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  และโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินกิจการเช่นเดิมไปพลางก่อน

          มาตรา 43  นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป ให้ลูกจ้างเงินทุนหมุนเวียนเวชภัณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพนักงานโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างเท่าที่ได้รับอยู่เดิมไปพลางก่อน จนกว่าผู้อำนวยการจะได้บรรจุและแต่งตั้งพนักงานหรือลูกจ้างดังกล่าวตามมาตรา 28 (1)

 

   ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

     จอมพล ถนอม กิตติขจร

        นายกรัฐมนตรี

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินการผลิตยาและจำหน่ายยาในปัจจุบันได้แยกดำเนินการโดยโรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข กับกองโอสถศาลา กรมวิทยาศาสตร์

การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและปฏิบัติงานล่าช้า ฉะนั้น เพื่อเป็นการประหยัดและให้ปฏิบัติงานได้รวดเร็ว จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงกิจการผลิตยาและจำหน่ายยาให้แก่หน่วยราชการ องค์การ   เทศบาล และประชาชนเสียใหม่โดยรวมโรงงานเภสัชกรรมกับกองโอสถศาลาและจัดตั้งเป็นองค์การเภสัชกรรมขึ้น เพื่อผลิตและจำหน่ายยาในราคาที่ถูกลงและกว้างขวางยิ่งขึ้น

Exit mobile version